Corneliani
วิว-มาสเตอร์ (View-Master) เป็นชื่อการค้าผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เกี่ยวกับระบบภาพสามมิติ มีจุดกำเนิดจาก กล้องดูภาพสามมิติ ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือน กล้องส่องทางไกลแบบสองตา ต้องใส่แผ่นรีล (Reel) เพื่อส่องดูฟิล์มสไลด์ (slides) พร้อมกัน 2 ภาพแยกสำหรับตาซ้าย-ขวา แล้วสมองจะแปรผลรวมเป็นภาพเดียวที่มีมิติตื้นลึกสมจริง กดเปลี่ยนภาพต่อเนื่องได้ 7 ภาพ
แผ่นรีลของวิว-มาสเตอร์ มีลักษณะเป็นกระดาษแข็งตัดเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 ซม. หรือ 3.5 นิ้ว ฉลุช่องสี่เหลี่ยม ผนึกประกบฟิล์มสไลด์ 14 สไลด์ หรือ 7 คู่ภาพ โดยใช้สไลด์ โกด้าโครม (Kodachrome พ.ศ. 2478-2550 (1935-2007)) ของ อีสต์แมนโกดัก (Eastman Kodak พ.ศ. 2431-2555 (1888-2012)) ผู้ประดิษฐ์วิว-มาสเตอร์คือ วิลเลี่ยม บี. กรูเบอร์ (William B. Gruber) หลังจากที่ได้พบปะพูดคุยกับ ฮาโรลด์ เจ. เกรฟ (Harold J. Graves) ในปี พ.ศ. 2481 (1938) จึงชักชวนให้มาทำงานร่วมกันใน ซอว์เยอร์ส (Sawyer’s Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโปสการ์ดที่ระลึก ตั้งอยู่ในพอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา และแล้ว กล้องดูสไลด์สามมิติวิว-มาสเตอร์ก็ได้เปิดตัวครั้งแรกช่วงปลายปี พ.ศ. 2482 (1939) ในงานนิวยอร์กเวิร์ลสแฟร์ (1939 New York World’s Fair)
ยุคเริ่มต้น กล้องวิวมาสเตอร์ มีสีดำ หรือน้ำตาลเข้ม เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ ใช้เพื่อการศึกษา และใช้ดูภาพสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็ปรับปรุงพัฒนาต่อมาอีกหลายสิบรุ่น ถูกเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการหลายบริษัท ปัจจุบันเป็นของแมทเทล (Mattel) และถูกวางตัวเป็นสินค้าเพื่อความบันเทิง ของเล่น-ของที่ระลึกสำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์ล่าสุดคือ View-Master Virtual Reality พ.ศ. 2558 (ค.ศ.2015) เป็นกล้องดูภาพสามมิติจากจอภาพสมาร์ตโฟน ร่วมกับ app เห็นภาพแบบเวอร์ชวล รีอาลลิตี้ (Virtual Reality (VR), สภาพสามมิติรอบตัวเสมือนจริง) และดูแอนิเมชัน 3 มิติ แบบ อ๊อกเมนเต็ด รีอาลลิตี้ (Augmented Reality (AR) แอนิเมชันผสานสภาพสามมิติรอบตัวเสมือนจริง) โดยการส่องกล้องไปที่ แผ่นพรีวิวรีล (Preview Reel) ซี่งทำรูปลักษณ์ให้คล้ายรีลแบบเดิม-แต่ไม่มีการใช้สไลด์อีกแล้ว (ตัวอย่าง อ๊อกเมนเต็ด รีอาลลิตี้ เช่น ภาพในเกมโปเกมอน โก ตอนที่ ม็อนสเตอร์โผล่มาให้จับบนสถานที่จริง)
วิวมาสเตอร์ 3 รุ่น คุ้นตา (จากซ้ายไปขวา) โมเดล อี E, แอล L, ซี C และพวงกุญแจ วิวมาสเตอร์ เริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนมีทีวีช่อง 3, (สถานีโทรทัศน์ แห่งที่ 4) และทีวียังเป็นภาพขาว-ดำ, หนังโรงเป็นเรื่องไกลตัว หนังกลางแปลงและงานวัดเป็นสถานบันเทิงที่ชุมนุมของคนทั่วไป ภาพจากภาพยนตร์ สถานที่ท่องเที่ยวสีสันสวยงาม หรือการ์ตูน ยังหาดูได้ยาก ในขณะที่ วิวมาสเตอร์ สามารถนำเสนอภาพสวยงามเหล่านั้นแถมยังเห็นมิติตื้นลึกได้ เป็นของเล่นที่พอจะมีเด็กๆ พกมาโรงเรียน แต่ก็ไม่มาก นอกจากนี้มีพ่อค้าทำแผงเร่-รถเร่ จัดเอา กล้องวิวมาสเตอร์ หลายๆ ตัว ยึดติดเรียงแถวกับแผง (มีหลอดไฟเปิดให้ความสว่างด้านหลัง) พร้อมเอาหน้าซองแผ่นรีลซึ่งพิมพ์ภาพสีสวยงาม ติดแขวนโชว์เป็นชั้นๆ ด้านบน อย่างกับรถเข็นขายปลาหมึกปิ้ง แล้วรถเร่ก็จะตระเวณไปตามโรงเรียน, งานวัด สถานชุมชน ฯลฯ เด็กๆ จำนวนมาก รวมถึงผู้ใหญ่ จะมาเช่าดูในราคาถูก ไม่กี่บาท (ดูภาพจำลองอดีตจากภาพยนตร์ “ตุ๊กแกรักแป้งมาก”) ทำให้กล้องวิวมาสเตอร์และรถเร่เป็นสิ่งติดตาฝังใจของเด็ก-ผู้ใหญ่ มาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะ กล้องวิว-มาสเตอร์ โมเดล แอล (L) สีแดง ปุ่มกลมก้านอลูฯ สีสดสะดุดตาเด็กๆ มาก, โมเดล จี (G) ทูโทนแดง-ขาว และสีเบจ, ส่วนโมเดลอื่น เช่น โมเดล ซี (C) สีดำ, โมเดล อี (E) สีน้ำตาลเข้ม แม้จะเป็นรุ่นที่ผลิตแรกๆ เก่ามาก สีเข้มทึบไม่สะดุดตา แต่ก็ด้วยความทนทาน(วัสดุเป็นแบ๊กกะไลต์) จึงถูกนำมาใช้งานอย่างยาวนานมาก ผ่านตาเด็กๆ หลายยุคหลายสมัย
จากนั้นก็เริ่มมีกล้องแนว พ็อคเก็ต ฟลิกซ์ (มูฟวี่-วิวเวอร์, movie viewer) แบบพกพา ซึ่งสามารถดูฟิล์มภาพยนตร์หรือการ์ตูนเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวแต่ไม่มีเสียง และไม่สามมิติ เข้ามาร่วมแผงเร่ ฮิตด้วยกันอยู่สักพัก ก็ค่อยๆ หมดความนิยม ทั้งนี้ ทีวีสีมีบทบาทมากขึ้น หนังสือ-สื่อต่างๆ มีให้เลือกเยอะขึ้น, รถเร่-แผงเร่วิวมาสเตอร์จึงเลือนหายไป, กล้องวิว-มาสเตอร์เคยหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า ก็ค่อยๆ ลดจำนวนจนเลิกขายไปในที่สุด ฟิล์มสไลด์ของโกดักที่เคยใช้ทำรีลก็เลิกผลิตแล้ว, สื่อบันทึกภาพทยอยเปลี่ยนไปเป็นระบบดิจิตอล, การส่องดูภาพนิ่งสามมิติไม่ดึงดูดใจอย่างแต่ก่อน เทคโนโลยีสามมิติพัฒนาไปมาก สามารถเปิดดูได้ง่ายๆ จากทีวี และสมาร์ตโฟน บริษัทซอว์เยอร์ส (Sawyer’s) ก่อตั้งโดย คาร์ลตัน ซอว์เยอร์ (Carleton Sawyer) และ เอ อาร์ สเปคต์ (A. R. Specht) ช่วงปี พ.ศ. 2457(1914) โดยให้บริการหลังการถ่ายภาพ (Photo finishing) เอ็ดวิน ยูจีน เมเยอร์ (Edwin Eugene Mayer) จบการศึกษาด้านเภสัชกรรม หลังกลับจากการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ก็มาทำงานเป็นเภสัชกรในร้าน Owl Drug มีความชื่นชอบเรื่องกล้องเป็นพิเศษ ตามที่เขาเล่าไว้ในจดหมาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2497(1954) ว่า เขารวบรวมเงินจากญาติพี่น้อง และภรรยาเพื่อซื้อหุ้นจาก ซอว์เยอร์ และ สเปคต์ ได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2462(1919) แล้วสานต่อธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่าย ผลิตโปสการ์ดภาพวิว และอัลบั้มภาพที่ระลึก กิจการของซอว์เยอร์ส ได้รับความนิยมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเพิ่มผู้ร่วมลงทุน
ปี พ.ศ. 2469(1926) ฮาโรลด์ เจ เกรฟ (Harold J. Graves) ซึ่งเคยทำงานเป็นช่างภาพให้กับกองทัพสหรัฐ ได้เข้ามาร่วมหุ้นกับซอว์เยอร์ส โดยเกรฟ ดูแลทำตลาด ส่วน เมเยอร์ บริหารธุรกิจ มีการเปลี่ยนชื่อกิจการเป็น Sawyer Service, Inc. ต่อมาซอว์เยอร์สได้เริ่มผลิตการ์ดอวยพร และวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ขายดีมากจนกระทั่ง ซอว์เยอร์ส ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตโปสการ์ดภาพวิวทิวทัศน์รายใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษ 1920 (ช่วงพ.ศ. 2463-2473) ช่วงทศวรรษเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2467 (1924) วิลเลียม บี กรูเบอร์ (William B. Gruber / 1 June 1903 – 16 October 1965) อพยพมาอยู่ พอร์ตแลนด์ โอเรกอน, อเมริกา เดิมเขาชื่อ วิลเฮล์ม กรูเบอร์ (Wilhelm Gruber) ชาวเยอรมัน มีถิ่นกำเนิดในเมืองมิวนิก เป็นช่างซ่อม-ตั้งเสียงเปียโน ชอบคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และหลงใหลการถ่ายภาพมาก 23 เมษายน พ.ศ. 2481 (April 23,1938) กรูเบอร์ สมรสกับ นอร์มา (Norma)แล้วไปเที่ยวที่ โรงแรมโอเรกอนเคฟ (the Lodge at Oregon Cave) ขณะที่กรูเบอร์ ถ่ายรูปสามมิติที่ถ้ำโอเรกอน (Oregon Caves) ด้วยกล้องถ่ายภาพนิ่งที่เขาดัดแปลงเองจาก กล้องแบนทัม สเปเชียล ของโกดัก สองตัวยึดกับขาตั้งกล้อง (tripod) และได้เจอกับ ฮาโรลด์ เกรฟ โดยบังเอิญ ซึ่งก็สนใจสิ่งประดิษฐ์ของกรูเบอร์ ทั้งสองพบปะพูดคุยกันอย่างถูกคอ เกรฟจึงชักชวนกรูเบอร์ให้มาร่วมงานกันใน ซอว์เยอร์ส เพื่อผลิตอุปกรณ์ดูภาพสามมิติในเชิงพาณิชย์ กรูเบอร์ ออกแบบเครื่องสำหรับวางตำแหน่งแผ่นฟิล์มสไลด์ขนาดจิ๋ว (ซอว์เยอร์ส เรียกว่า ชิพ chips) ประกบด้วยกระดาษแข็งวงกลม2แผ่น ผนึกติดกันโดยใช้ความร้อน ออกมาเป็นแผ่นเรียกว่า “รีล (Reel)” วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 3.5 นิ้ว หรือ 9 ซม. รวมทั้งออกแบบและผลิตกล้องดูภาพชนิดพิเศษ (special viewer) ด้วยการปรับกล้องสเตอริโอสโคป Stereoscope (กล้องดูภาพสามมิติ)ทรงโบราณ โดยเปลี่ยนจากภาพนิ่งไปใช้ฟิล์มสไลด์ โกดาโครม ขนาด 16 มม. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ได้ไม่นาน, ด้วยแผ่นรีลแบบวงกลมของกรูเบอร์ สามารถบรรจุฟิล์มสไลด์ได้ 14 แผ่น หรือ 7 คู่ภาพ ทำให้ดูภาพสามมิติต่อเนื่องได้ 7 ภาพ หรือดูวนซ้ำไปได้เรื่อยๆ , ฟิล์มสไลด์ 2 ภาพสำหรับ ตาซ้าย-ตาขวา จะคล้ายกัน ต่างมุมมองเพียงเล็กน้อย เมื่อมองผ่านกล้องจะเห็นภาพมีมิติตื้นลึก